วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อดาน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร เดิมเรียกว่า"วัดพระพุทธสิหิงค์" เพราะเป็นวัดที่เคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง ในสมัยอยุธยาปรากฏในเอกสารกัลปนาวัดหัวเมือง พ.ศ. 2272 ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระว่าวัดพระสิงห์เป็นวัดขึ้นวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นวัดร้าง บริเวณวัดเป็นโคกหรือเนินสูง เรียกว่า "โคกพระสิงห์" บริเวณรอบๆ เป็นทุ่งนา ทางทิศเหนือของวัดมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ 1 บ่อ ชาวบ้านเรียกว่า"บ่อฆ้อง" และเชื่อกันว่าภายในมีทรัพย์สมบัติฝังไว้ ทางทิศใต้ของวัดมีพังขนาดใหญ่เรียกว่า "พังโหรง" หรือ "พังสำโรง" กลางโคกพระสิงห์มีศาลาชั่วครว 1 หลัง ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น 1 องค์ ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปล้องไฉน เจดีย์ทำด้วยหินปะการังจำนวนหลายชั้น อิฐ คอระฆัง และเศษเครื่องถ้วยชามสังคโลก ทั่วบริวารรอบๆวัด ได้พบเศษภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์เหม็ง ราชวงค์หงวน และสังคโลกสมัยสุโขทัย กระจายอยู่เป็นจำนวนมากเดิมมีซากฐานเจดีย์ 1 องค์ ซากฐานอุโบสถ แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว เคยขุดพบถูกนิมิตทำด้วยหิน ถ้วยชามสังคโลก กระปุกใส่กระดูก และพระพุทธรูปหลายองค์โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดพระสิงห์ คือ
1. พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย ลักษณะพระพักตร์กลม พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง สังฆาฏิเป็นแผ่นสั้นซ้อนกัน 3 ชั้น อยู่เหนือพระถัน พนะถันนูนแบบอิทธิพลสกุลช่างเมืองนครศรีธรรมราช เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น เข้าใจว่าสร้างขึ้นไม่เกินสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2. พระนารายน์จำหลักหิน เป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ มีลักษณะประทับยืน มี 4 กร พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือคทา (กระบอง) พระหัต์ขวาล่างทรงถือภู (ก้อนหิน) พระหัตถ์ซ้ายบนทรงถือสังข์ และพระหัตถ์ขวาบนทรงถือจักร ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของ พระนารายณ์ พระเศียรทรงสวมมงกุฎ ทรงกระบอก ผ้าทรงยาวถึงพระชงฆ์ ดูคล้ายโธตีของอินเดียเครื่องประดับพระองค์มีเพียงกุณฑลกลมใหญ่ที่พระกรรณทั้ง 2 อายุพระนารายณ์องค์นี้ไว้ ระหว่างศตวรรษที่ 11 -12
จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า บริเวณวัดพระสิงห์เป็นชุมชนใหญ่ร่วมสมัยกับเมืองสทิงพระในสมัยศรีวิชัยและอาจจะเคยเป็นสถานที่ทางศาสนาพราหมณ์ หรือ เทวสถานมาก่อนก็ได้ ต่อมาภายหลังจึงได้ดัดแปลงเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา